วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2559 เป็นวันสุดท้ายที่ผมเรียนที่โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ เตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ ผมอยู่ที่นี่เกือบ 7 ปี (ผมไปแลกเปลี่ยนสั้นๆ ด้วยเลยจบช้ากว่าคนอื่น) ตลอดระยะเวลาของการเป็นนักเรียนเลวฯ ได้จบลงแล้ว
แต่ก็ถือว่าเป็นการปิดท้ายที่มีค่า ในวันนั้นผมจัดงานที่ถือเป็นการจากลาตัวเองด้วย โดยสามารถเชิญ ผอ. โรงเรียน สุภาพร รัตน์น้อย มาพูด และนักเรียนที่มีแววอีกหลายคนมาพูดสิ่งที่เขาสนใจแต่ไม่มีพื้นที่ในโรงเรียน ผมเองกล่าวปาฐกถาปิดสั้นๆ ซึ่งผมถือว่าน่าจะเป็นบทพูดที่ดีที่สุดของผมแล้วตลอดที่ผ่านมาในโรงเรียน
น่าเสียดาย ผมจบมาหลายปีแล้ว แทนที่จะเห็นความเจริญ โรงเรียนซึ่งกลายเป็นที่ตักตวงของผู้บริหารชุดใหม่ๆที่หยิ่งผยองเกินกว่าจะรับฟังเด็กๆ พังพินาศกว่าสมัยผมเสียอีก ปาฐกถาบทนี้ของผมไม่ถูกนำไปใช้แม้เพียงเศษเสี้ยว แต่นั้นก็ไม่ได้หมายว่าถูกทำให้ทรามค่าลง ผมหวังว่าอาจจะมีประโยชน์ในการเป็นกรอบคิดใหม่ของการพัฒนาโรงเรียน ที่ไม่ใช่แค่เพื่อประโยชน์พวกข้าราชการบางกลุ่มในโรงเรียนแบบที่เป็นอยู่ในเวลานี้
เนติวิทย์ (2563)
ปาฐกถาปิด:
โรงเรียนนวมินทร์ฯ เตรียมพัฒน์ ในทัศนะของผม
เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล
I
ผมต้องขอขอบคุณเพื่อนๆ นักเรียนที่มาช่วยให้งานนี้สำเร็จลุล่วงไปได้ก่อนอื่นใด รวมถึงครูวิษณุ สังข์แก้ว ที่เอื้อพื้นที่ห้องสมุดให้ จากนั้นก็ต้องขอบคุณผู้อำนวยการที่จัดเวลาไว้มาพูดให้เราและอยู่ฟังพวกเราพูดจนจบ
ถ้าพูดกันอย่างเป็นพิธีแล้ว เพราะตอนเช้ามีพิธีลอดซุ้มจบของนักเรียน ม.6 วันนี้ก็เสมือนเป็นวันที่ผมได้จบลง แต่ก็อย่างที่รุ่นนี้มีนักเรียนตั้งชื่อคือ จบแบบสมมติ โอ้โห อยู่เป็น นั่นเอง คือจบปลอมๆ จริงๆ เขาจะเอาชื่อนี้เป็นชื่อรุ่น แต่โรงเรียนก็ต้องการให้ภาพลักษณ์ดี เลยไม่ให้เขาใช้ชื่อนี้
ขอให้สังเกตคำที่ผมใช้เมื่อกี่นี้นะครับ คือคำว่า “โรงเรียน” พวกท่านเคยพูดไหม โดยใช้สรรพนามบุรุษที่สามนี้ เช่น “โรงเรียนบอกให้ทำ” “อย่าไปว่าโรงเรียนเลย” “โรงเรียนบอกให้เรารักโรงเรียน” ผมขอถามจริงเถอะ โรงเรียนที่เราพูดคืออะไร เราอ้างอิงไปถึงอาคารที่ก่อร่างจากอิฐหินหรือ ซึ่งคงไม่ใช่ แล้วโรงเรียนที่นี้คืออะไร และใครกำหนด นี่ยังเป็นปัญหาใหญ่อยู่ คือคำว่า “โรงเรียน” เมื่อพูดถึงไม่ได้สะท้อนถึงอิฐหินที่ก่อร่าง หรืออาคารที่ตั้งอยู่ แต่สะท้อนถึงคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่มีอำนาจในการกำหนดว่าอะไรที่ควรไม่ควร พวกเขาคือ “โรงเรียน” ที่แท้จริง
เมื่อคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมีอำนาจกำหนดมีอาญาสิทธิ์ผูกขาดในการเป็น “โรงเรียน” การสร้างอาคารรูปทรงไม่เข้าท่า และไม่ตรงตามรูปแบบที่ลงไว้อย่างดีในวารสารโรงเรียน ราคา 11 ล้านบาท จึงปรากฏขึ้นอย่างไม่มีใครคัดค้าน คนส่วนใหญ่ไม่รู้ ซึ่งอานิสงส์ก็คือทำให้โรงเรียนติดหนี้อยู่จนถึงทุกวันนี้ และในอนาคตก็ต้องทอดผ้าป่าอีกหลายครั้งเพื่อชดใช้หนี้สินพวกนี้ (ระวังให้ดี เมื่อก่อนสองสามปีที เดี๋ยวนี้แทบทุกปี ระวัง การขอเงินนักเรียนผู้ปกครองทุกๆปีจะเป็นวัฒนธรรมของโรงเรียนไปในที่สุด)
อาจจะมีผู้ได้รับอาญาสิทธิ์การเป็น “โรงเรียน” หรือครู บอกนักเรียนว่า “เธอมีหน้าที่เรียน ก็เรียนให้ได้ก็พอ” ผมมักจะเจอข้อความนี้ตอบกลับตนเองเสมอ รวมถึงนักเรียนที่คุยกับครูในห้องแล้วครูตอบกลับแบบนี้ มันไม่ได้มีอะไรนอกจากจะตอกย้ำว่า โรงเรียนนี้ไม่มีพื้นที่ให้นักเรียน และหลงทางกับปรัชญาการศึกษา
โรงเรียนเป็นสถานที่นักเรียนมาแค่เรียนเท่านั้นหรือ แล้วต้องเผชิญกับการใช้อำนาจจากครู พยายามเอาตัวรอดให้ได้โดยเหมือนๆ กันนั้นหรือ แล้วโรงเรียนจะไม่ต่างจากคุกได้อย่างไร นอกจากขโมยการควบคุมร่างกายของนักเรียนแล้ว ยังควบคุมความคิดด้วย ถ้าในแง่พุทธศาสนาก็ถือว่าล้มเหลวทางการให้เจริญปัญญา (ซึ่งต้องมาจากตน) และล้มเหลวในแง่ปรัชญาทางโลก ในแง่การศึกษามีหน้าที่ในการปลดปล่อยศักยภาพ
ถ้าเรายังจำกันได้ โรงเรียนนี้มีนโยบาย 4 ร คือ เรียบร้อย รอบรู้ ริเริ่ม ร่าเริง สิ่งนี้เป็นวิสัยทัศน์ตั้งแต่สมัยก่อตั้งโรงเรียนแห่งนี้ วิสัยทัศน์เหล่านี้กำลังบอกอะไรเรา ไม่ได้บอกแค่ว่าต้องเอาแต่เรียบร้อยซึ่งโรงเรียนเราเน้นพัฒนาแค่ตรงนี้ อ้างแต่ระเบียบวินัย (ผมอยากเสนอให้เปลี่ยนไปใช้คำว่า ให้เกียรติซึ่งกันและกันมากกว่า) แต่ต้องสร้างคนให้รอบรู้ ไม่ใช่เฉพาะในตำราเรียน แต่ต้องหัดที่จะรู้จักการริเริ่มความคิด หรือมีวิชาที่ประยุกต์ใช้ แล้วต้องร่าเริงคือมีความสนุกไปกับการได้กระทำสิ่งต่างๆเหล่านี้ สิ่งเหล่านี้คนคิดก็คงชาญฉลาด เพราะถ้าสร้างให้นักเรียนเป็นแบบนี้ไปได้ ก็จะทำให้โรงเรียนพัฒนาไปได้เจริญอย่างแน่นอน น่าเสียดายว่านับวัน วิสัยทัศน์นี้ยิ่งหายไปจากการปฏิบัติ ลืมจนคิดว่าโรงเรียนนี้จะต้องเป็นเตรียมอุดมให้ได้ หรือกลายเป็นการท่องคำซ้ำซากเวลามีบุคคลภายนอกมาประเมิน
II
เมื่อผมตระหนักในสถานการณ์ที่เป็นไป และการที่โรงเรียนถูกจำกัดอยู่ที่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง สิ่งที่ผมและเพื่อนนักเรียนอีกหลายคนช่วยทำให้เกิดก็คือการมีส่วนร่วมเพื่อที่โรงเรียนจะไม่ได้มีอยู่กับแค่กลุ่มใดกลุ่ม พวกเราได้ร่วมกันทำ กองทุน 60 ปีสะพรั่งพร้อม รัฐสมุทร โครงการศุกร์สร้างสรรค์เสวนา นิทรรศการศิลป์สร้างงาน – อ่านสร้างสรรค์นิทรรศการรักการอ่าน ผมเองก็เคยไปมีส่วนร่วมในระบบสภานักเรียน แต่ก็ถูกย่ำยีอย่างมากถูกรัฐประหารออก บางเรื่องเราทำเองไม่ได้ก็ต้องเสนอฝ่ายบริหาร ผมต้องขอขอบคุณเพื่อนต่างโรงเรียนอีกด้วยอย่างเช่นที่เตรียมอุดมศึกษา ที่เคยมาเสนอแนวคิดรักการอ่านให้กับผู้บริหารโรงเรียนเรา กระทั่งการสวดมนต์หน้าเสาธงพวกเราก็เห็นความสำคัญ
การเรียนรู้ในทุกจุดสำคัญ การศึกษาเป็นไปเพื่อปลดปล่อยศักยภาพและความคิดสร้างสรรค์ แต่โรงเรียนนี้ พูดอย่างตรงไปตรงมา ล้มเหลวในการตอบจุดประสงค์เหล่านี้ โครงการที่ผมเสนอมาแทบทั้งหมดได้รับการปฏิเสธ มีผู้บริหารคนหนึ่งซึ่งตอนนี้เป็นใหญ่ในครุสภาจังหวัดเคยเรียกผม เพื่อนๆและครูไปด่า เพราะว่าฉายหนังโดยแกไม่รู้ (และแกก็ไม่ได้อยู่ในโรงเรียนสักเท่าไหร่) คนที่คิดต่าง (ไม่ใช่แค่ผม) ในโรงเรียนไม่ได้มีพื้นที่ให้พวกเขา สภานักเรียนโรงเรียนนี้ถูกควบคุมโดยครูมาตลอด ตารางการเรียนที่นี่รับใช้ผู้บริหาร ไม่ใช่รับใช้ครูหรือนักเรียน นักเรียนส่วนใหญ่ยังถูกปฏิบัติเสมือนเด็กวัยสามขวบคือยังไม่สามารถที่จะคิดเองเป็นได้และไม่สามารถที่จะควบคุมผมของตัวเองได้
III
มีเรื่องเล่าโบราณของกรีกน่าสนใจอยู่เรื่องหนึ่ง
มีขอทานคนหนึ่งชื่อ ไดโอเจนีส เมื่อพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชผู้เกรียงไกรเสด็จพระราชดำเนินมาแล้วเจอขอทานคนนี้นั่งอยู่ จึงตรัสถามว่าพระองค์จะสามารถช่วยเหลืออะไรเขาได้บ้าง ไดโอเจนีสทูลว่า พระองค์ช่วยขยับออกไปหน่อยเถอะพะยะค่ะ เพราะท่านกำลังบังแสงแดดของกระหม่อมอยู่
เรื่องนี้ให้คติอะไรกับเรา แม้เราจะไม่มีเงิน (เช่นโรงเรียนเราตอนนี้) แต่ถ้าเรามีปรัชญาส่องทาง (ไม่ใช่ปรับไปปรับมาไม่มีหลัก) มีคติที่มั่นคงในการดำรงชีวิต(หรือการบริหาร) เราก็สามารถจะอยู่ได้อย่างมีเกียรติได้
ผมไม่ได้มองว่าโรงเรียนนี้ไม่มีดีเลย ยังมีข้อดีอยู่เช่นกัน ตอนนี้เรามีผู้บริหารที่กำลังพากเพียรเปลี่ยนแปลง อุตสาห์มารับฟังนักเรียนพูดจนจบ เรายังไม่แก่จนดัดยาก แม้หลายครั้งเราจะหลงทางเดินตามกระแสเช่นมาตรฐานสากล (ตอนนี้เราก็เป็นในตำบลบางบ่อ) จะเอารางวัลนู้นนี้ แต่ถ้าเรามาคุยกันได้ สร้างหลักการ พิจารณาวิสัยทัศน์ที่ดีแล้วในอดีต อนาคตของโรงเรียนเราจะไปได้ดีอย่างแน่นอน เรายังมีครูที่เข้าใจนักเรียนและเปิดรับฟังนักเรียนอย่างเป็นมิตรอีกจำนวนไม่น้อย ขอแค่เรากระตุ้นกันอย่างเป็นมิตร อยู่ร่วมกันอย่างมีการสนทนาทั้งสองทาง
อย่างงานวันนี้ที่พวกเรามาพูดแลกเปลี่ยนกัน ครูก็พูด-ฟัง นักเรียนก็พูด-ฟัง ซึ่งแต่ละท่านก็พูดได้อย่างน่าสนใจ ไม่ใช่แค่เป็นการมุทิตาจิตต่อ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ผู้ใหญ่ไม่กะล่อน ที่ให้ความสำคัญต่อการศึกษาเพื่อความเป็นมนุษย์ของพวกเราทั้งหมดอย่างมีสาระเท่านั้น แต่ถ้ารักษาต่อไปได้ เกิดวัฒนธรรมแห่งการวิจารณ์และการสนทนาแลกเปลี่ยนความรู้กันในโรงเรียน ครูกับนักเรียนเป็นกัลยาณมิตรกัน โรงเรียนนี้รวมคำว่านักเรียนไปด้วย หายนะที่เกิดขึ้นจากการคิดเองฝ่ายเดียวย่อมถูกแทนที่ด้วยวัฒนะความเจริญที่จะงอกงามขึ้นกับทุกฝ่ายในโรงเรียนอย่างแน่นอน
ขอบคุณครับ