สำนักพิมพ์สำนักนิสิตสามย่าน ที่ผมได้ก่อตั้งร่วมกับเพื่อนๆ ได้ตีพิมพ์หนังสือเล่มใหม่ ต้านเกณฑ์ทหาร: รวมบทความนานาชาติ ซึ่งแปลมาจาก Conscientious Objection, Resisting Militarized Society จากการค้นคว้าของผม หนังสือเล่มนี้น่าจะเป็นหนังสือวิชาการแปลด้านการเกณฑ์ทหารเล่มแรกของประเทศไทย แม้ว่าเราจะมีเกณฑ์ทหารมานับร้อยปีแล้วก็ตาม
มิตรสหายทั้งสี่คนลงแรงแปลหนังสือเล่มนี้อย่างตั้งใจ เสียสละเวลาและใช้ความอุตสาหะเป็นอย่างยิ่ง จากที่หนังสือเล่มนี้มีอิทธิพลต่อผมอย่างมากต่อเรื่องการเกณฑ์ทหารและจุดยืนการเป็นผู้คัดค้านโดยอ้างมโนธรรม (Conscientious Objector) ผมจึงเขียนคำนำเสนอให้หนังสือเล่มนี้
ลองทำความรู้จักหนังสือเล่มนี้ไปพร้อมกัน หวังว่าหนังสือเล่มนี้จะช่วยชำแหละโครงสร้างที่มีอยู่ และนำเสนอแนวทางการต่อสู้กับประเด็นนี้ให้สังคมไทยได้
คำนำเสนอ
เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล
I
พ.ศ. 2557 เป็นปีที่ผมมีโอกาสเดินทางไปศึกษาที่ประเทศอินเดียเป็นเวลา 7 เดือน นอกจากความน่าตื่นเต้นและท้าทายของเด็กหนุ่มคนหนึ่งที่ไม่ประสีประสากับโลกอันกว้างขวางเพื่อเรียนรู้ภาษาอังกฤษและวัฒนธรรมของที่นั่นแล้ว ยังเป็นปีที่ทำให้ผมได้ตัดสินใจอะไรบางอย่างที่ยากที่สุดในชีวิตและเป็นอะไรที่จะส่งผลกับชีวิตของผมตลอดไป
นั่นก็คือ การปฏิเสธการเกณฑ์ทหารโดยเหตุผลทางมโนธรรม ซึ่งผมได้เขียนคำประกาศเจตนารมณ์ขึ้นและให้เพื่อนชาวอังกฤษช่วยตรวจทาน เพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์องค์การต่อต้านสงครามนานาชาติ (War Resisters’ International – WRI) ในวันที่ผมมีอายุครบ 18 ปีบริบูรณ์
สิ่งต่างๆ เหล่านี้อยู่ในความคิดของข้าพเจ้าตั้งแต่ข้าพเจ้าอายุ 16 ปีและจนบัดนี้ก็ตาม ข้าพเจ้าอายุได้ 18 ปีบริบูรณ์ . . .
ทุกคนเป็นเพื่อนมนุษย์และข้าพเจ้าไม่ได้ต้องการฆ่าเพื่อนมนุษย์ ข้าพเจ้าจะเป็นผู้ปฏิเสธการเกณฑ์ด้วยเหตุผลทางมโนธรรม (conscientious objector) เมื่อข้าพเจ้ามีอายุครบตามข้อบังคับเข้ารับราชการเกณฑ์ทหารของกองทัพ ข้าพเจ้าจะไม่เป็นทหารในกองทัพไทยหรือกองทัพแห่งความรุนแรงใดๆ [1]
การตัดสินใจที่จะปฏิเสธอย่างเปิดเผยเป็นอะไรที่หนักใจผมอยู่ไม่ใช่น้อย นอกจากผมจะต้องรักษาคำพูดที่ลั่นออกไปแล้ว ต่อไปนี้เส้นทางการหลบเลี่ยงเกณฑ์ทหารอย่างผิดวิธีที่ผมสามารถเข้าถึงได้แบบลูกชนชั้นกลางที่พอมีเงินอยู่บ้างก็คงจะหมดไป
ผมจะไม่สามารถยัดเงินได้เหมือนที่ผมได้ยินตอนไปรับใบขึ้นทะเบียนทหารกองเกิน ซึ่งสัสดีอำเภอข้างๆ โต๊ะที่ผมรับใบ บอกแก่แม่และเด็กหนุ่มคนหนึ่งที่ลูกมีอายุถึงเกณฑ์ต้องไปเป็นทหารว่าต้องจ่ายเท่าไหร่ด้วยน้ำเสียงที่ฟังชัดไปทั้งห้องเหมือนนี่คือเรื่องปกติ
ผมจะไม่สามารถขอให้ญาติที่เป็นทหารหรือทหารที่ผมรู้จักช่วยให้ผมเป็นทหารเกณฑ์เพียงไม่กี่เดือนแล้วช่วยให้ผมออกมาก่อนกำหนดได้โดยยกเงินเดือนทหารที่เหลือให้เขาได้เหมือนที่เพื่อนผมบางคนได้ทำ
และถ้าผมเลี้ยวกลับโดยการยินดีไปเกณฑ์ทหาร ผมก็คงจะถูกทับถมจากคนในสังคมและตัวเอง รัฐทหารเองก็จะจับตาไม่ให้ผมหลุดรอดจากคำพูดของตัวเอง (ในบรรดาบุคคลที่มีชื่อเสียงของสังคม กองทัพไทยได้ประกาศให้ผมมีรายชื่ออยู่ด้วย) และรอคอยวันที่จะมาถึงเพื่อลงโทษคนที่เลือกวิธีการนี้อย่างเย้ยหยันและไร้ความปรานี
แล้วผมมาสู่กระบวนการตัดสินใจนี้ได้อย่างไร
ถ้าหากจะให้เล่า ก็คงจะต้องย้อนกลับไปตอนอายุ 16 ปี ขณะที่ผมอยู่ ม.4 เริ่มจากคำถามบางคำถามที่เรียบง่ายว่า ทำไมชายไทยทุกคนต้องถูกบังคับให้เกณฑ์ทหาร แทนที่จะมีทางเลือกอื่นๆ รองรับอย่างเป็นอิสระ ไม่ต้องผูกพันว่าจะต้องทำสิ่งนั้นสิ่งนี้
แต่เพราะการตั้งคำถามที่ลึกลงไปเรื่อยๆ ประจวบกับสถานการณ์ทางการเมืองที่ทหารเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างชัดเจน จากความลังเลสงสัยก็นำไปสู่การตัดสินใจที่จะปฏิเสธเกณฑ์ทหารอย่างเปิดเผย และเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ผมตัดสินใจนั้นก็มาจากการได้อ่านหนังสือเล่มนี้
II
การเกณฑ์ทหารในประเทศไทยนั้นเริ่มอย่างเป็นระบบในสมัยรัชกาลที่ 5 (ออกพระราชบัญญัติลักษณะเกณฑ์ทหาร ร.ศ. 124) แม้จะมีการแก้ไขเพิ่มเติมในฉบับต่อๆ มาบ้าง จนถึงการเข้าสู่ยุคแห่งการตื่นตัวทางปัญญาขนาดใหญในหมู่สามัญชนคือ เหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ซึ่งได้โค่นล้มเผด็จการทหารลงไปนั้น จนแม้กระทั่งหลังเหตุการณ์พฤษภาเลือด พ.ศ. 2535 จนรัฐประหารครั้งล่าสุดในปี พ.ศ. 2557 นี่เอง แต่ก็น่าแปลกใจว่า การบังคับการเกณฑ์ทหารอันเก่าแก่ไม่ได้ถูกแก้ไขเลย แม้กระทั่งจากการศึกษาค้นคว้าของผมในเบื้องต้น ก็ไม่พบว่ามีใครเห็นเรื่องนี้เป็นประเด็นปัญหาที่ต้องต่อสู้ในเชิงศาสนธรรมหรือในเชิงการเมืองเลย
การที่ได้สนทนากับสุลักษณ์ ศิวรักษ์ ครูของผม ท่านได้ทำให้ผมรู้จักว่าการต่อต้านการเกณฑ์ทหารนั้นมีอยู่ เช่น กรณีของพวกเคว้กเกอร์ที่จะไม่จับปืนถืออาวุธเพราะถือเป็นการฆ่าฟันเพื่อนมนุษย์ จนถึงการต่อต้านการเกณฑ์ทหารเพราะเหตุผลทางการเมืองของพลเมืองคนหนุ่มสาวชาวสหรัฐอเมริกาในช่วงสงครามเวียดนาม
การรู้ว่าเราไม่ได้คิดอะไรแค่คนเดียว แต่มีคนที่ตั้งคำถามมาก่อนเรา ยังทำให้ผมได้รับแรงบันดาลใจ และเริ่มขยายกรอบคิดไปไกลขึ้นว่า ทำไมพวกเขาถึงต่อต้าน ทำไมในประเทศต่างๆ ถึงมีการยกเลิกการบังคับเกณฑ์ทหารไปแล้ว ที่น่าสังเกตก็คือประเทศที่มีการเคลื่อนไหวในเรื่องนี้และปลดแอกเรื่องนี้ได้สำเร็จ ใช่หรือไม่ที่เป็นสังคมประชาธิปไตย ปมตรงนี้เป็นปมที่คนมองข้ามหรือเปล่าในสังคมไทย และปมตรงนี้หรือเปล่าที่ไม่ปลดพันธนาการของเราให้พ้นจากความเป็นรัฐซ้อนรัฐของทหาร การเกณฑ์ทหารกับการเมืองจะเป็นเรื่องที่แยกจากกันไม่ได้เสียแล้ว คำถามยิ่งพรั่งพรูขึ้นเรื่อยๆ และการสืบค้นคว้านี้ก็สร้างความรู้ให้ผมอย่างมหาศาล
จากการได้เริ่มรับรู้วีรกรรมของการต่อต้าน เหตุผลของพวกเขา โลกออนไลน์นำพาให้ผมได้พบกับขบวนการต่อต้านสงครามและต่อต้านการเกณฑ์ทหารที่หลายประเทศยังคงคึกคัก และหนึ่งในนั้นคือองค์การต่อต้านสงครามนานาชาติหรือ WRI ในเว็บไซต์ของที่นี่ให้ข้อมูลเรื่องการเกณฑ์ทหารทั่วโลก รายชื่อผู้คัดค้านโดยมโนธรรม และหนังสือดีๆ อีกจำนวนไม่น้อย ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือหนังสือเล่มนี้
ผมได้ติดต่อขออนุเคราะห์หนังสือเล่มนี้ในฉบับภาษาอังกฤษจากองค์กรดังกล่าวและในช่วงเวลาที่พักผ่อนจากการเรียนในอินเดีย ผมก็หยิบหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาอ่าน
หนังสือที่ท่านถืออยู่ในมือนี้ [ต้านเกณฑ์ทหาร] ต้นฉบับมาจากภาษาตุรกี เป็นการรวมบทความจากการสัมมนาวิชาการเรื่องการคัดค้านการเป็นทหารโดยมโนธรรมซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศตุรกี และนับว่าเป็นการสัมมนาครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของโลกในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมาในประเด็นเรื่องการเกณฑ์ทหารและระบอบบูชาความเป็นทหาร
นอกจากจะเป็นหนังสือที่ให้มุมมองอย่างหลากหลายในเรื่องการคัดค้านโดยมโนธรรม ทั้งเชิงประวัติศาสตร์ ข้อถกเถียงทางปรัชญา และเหตุผลทางการเมือง เพศและศีลธรรม รวมถึงข้อบทกฎหมาย สิ่งหนึ่งที่ทำให้ผมสะดุดใจกับการอ่านหนังสือเล่มนี้คือ เป็นหนังสือที่สำรวจประวัติศาสตร์และบทเรียนจากการต่อสู้ของการคัดค้านโดยมโนธรรมที่เกิดขึ้นในประเทศต่างๆ รวมถึงที่กำลังต่อสู้ในปัจจุบันด้วย ซึ่งนับว่าเป็นสิ่งที่ร่วมสมัยอย่างยิ่ง
กล่าวไปจำเพาะที่บางบทของหนังสือเล่มนี้ โดยเฉพาะเรื่องสังคมตุรกีที่ผู้เขียนในเล่มได้ฉายภาพออกมาให้เห็น ผมคิดว่าคนไทยคงจะรู้สึกปลอบประโลมใจและมีไฟที่จะทำอะไรขึ้นมา สังคมตุรกีนั้นถ้ากล่าวอย่างตรงไปตรงมาแล้ว เป็นประเทศที่มีทหารเป็นรัฐภายในรัฐ อาจจะหนักกว่าประเทศไทยด้วยซ้ำ ในแง่ที่การก่อตั้งประเทศนี้ขึ้นมา หลังจากจักรวรรดิออตโตมันได้ล่มสลายลงไปแล้วอิงอาศัยคติของการเป็นชนชาตินักรบ การที่มีคตินี้ย่อมผูกพันกับการบังคับเกณฑ์ทหาร หนังสือเล่มนี้ได้ฉายให้เราเห็นว่ามีประวัติศาสตร์ของการต่อต้านการเกณฑ์ทหาร พาเราฉีกกระชากลงไปที่ตัวโครงสร้างของสถาบันทหารและสถาบันการเมืองที่ค้ำจุนระบบเกณฑ์ทหารไว้ บางลักษณะก็มีความคล้ายคลึงกับสังคมไทยมากทีเดียว และอาจจะรุนแรงกว่าเราด้วยซ้ำไป แต่ที่นั่น การต่อต้านการเกณฑ์ทหารได้ดำเนินมาอย่างเปิดเผยสักระยะหนึ่งแล้ว และการต่อสู้ก็ดูจะไม่สิ้นสุดไปง่ายๆ แต่เป็นไฟที่ลามไปทั่วทั้งทุ่งแม้ในสภาวการณ์ที่ประเทศถลำลึกสู่ระบอบเผด็จการอำนาจนิยมภายใต้อำนาจประธานาธิบดีแอร์โดอาน (Recep Tayyip Erdoğan)
ถ้าสังคมของที่นี่ถูกกระชากชำแหละให้เราเห็นบ้างแล้ว จนเห็นหนทางในการต่อสู้ หนังสือเล่มนี้ก็น่าจะเป็นสิ่งที่ทำให้เราเห็นถึงความจำเป็นในการต้องชำแหละกองทัพไทย โครงสร้างที่สนับสนุนมันอยู่และความจำเป็นในการต่อสู้อย่างเป็นรูปธรรม
หนังสือเล่มนี้เหมาะสมอย่างยิ่งในช่วงเวลาของยุคเผด็จการทหารไทย การอ่านจะทำให้เราเห็นหนึ่งในใจกลางของปัญหานั่นคือระบบการเกณฑ์ทหาร และหนทางที่จะเอาชนะมันจากบทเรียนนานาประเทศ
III
การที่ถูกตราว่าเป็นหนังสือประเภทวิชาการอาจจะทำให้เราหลายคนท้อใจไปล่วงหน้า ตามจริงหนังสือเล่มนี้ก็ดูอ่านยากอยู่พอสมควร แม้ว่าคณะผู้แปลจะพยายามอย่างเต็มที่แล้วจนการอ่านดูน่าอภิรมย์ขึ้น แต่ถ้าไล่เรียงอ่านไปเรื่อยๆ อาจจะเจออุปสรรคบ้างในบางบทที่เราอาจจะไม่คุ้นเคยกรอบทฤษฎี หรือไม่เคยรับรู้ปัญหานั้นๆ มาก่อนทำให้ยากต่อการเข้าใจ ดังนั้นจึงอยากจะแนะนำให้อ่านในบทที่ตนเองสนใจก่อนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องไล่ไปตามลำดับ จากนั้นค่อยโยงกลับไปหาเนื้อหาในส่วนอื่นๆ ได้ ซึ่งอาจจะช่วยให้ความเข้าใจเนื้อหานั้นๆ ดีขึ้นด้วย
จากการศึกษาและการตรวจค้นหนังสือในเรื่องการเกณฑ์ทหารในประเทศไทยแล้ว ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องประสบการณ์ในค่ายทหารมากกว่า ซึ่งส่วนใหญ่ก็ไม่กล้าเขียนอย่างตรงไปตรงมา และถึงจะมีหนังสือจำพวกนี้ก็นับเป็นส่วนน้อย ยิ่งเรื่องเกณฑ์ทหารที่ตั้งคำถามจนถึงการต่อต้านด้วยแล้ว เข้าใจว่าไม่มีหนังสือที่ผลิตขึ้นมาเผยแพร่ต่อสาธารณชนเลย แม้เราจะมีการเกณฑ์ทหารมาไม่ต่ำกว่าร้อยปี และมีการโค่นล้มเผด็จการทหารมาหลายครั้ง ไม่เชื่อก็อาจจะต้องเชื่อว่า หนังสือเล่มนี้ เป็นหนังสือวิชาการแปลเกี่ยวกับการต่อต้านการเกณฑ์ทหารเล่มแรกของประเทศไทย
หนังสือเล่มนี้นอกจากจะเป็นเล่มแรกในแง่วิชาการแล้ว คงจะบอกได้ด้วยอีกกระมังว่า เป็นหนังสือต่อต้านเผด็จการที่สำคัญที่สุดในยุคนี้ของไทย ในยุคที่ทหารครอบงำสังคม องค์ความรู้ในการรู้จักทหารและโครงสร้างของมันนับเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง
ความหวังของผมยังมีมากกว่านั้นอีก ผมหวังว่าหนังสือเล่มนี้จะเป็นเล่มที่เบิกทางให้ท่านได้ค้นคว้าจากเล่มอื่นๆ ในองค์ความรู้ของโลกภาษาอังกฤษ มีสื่ออีกจำนวนมากให้เราได้เรียนรู้ แต่ละปีมีหนังสือประเภทนี้ออกมาอยู่เรื่อยๆ รวมถึงกลยุทธ์ กลวิธีต่างๆ ที่เราจะเรียนรู้จากนานาชาติได้
หนังสือเล่มนี้ไม่ได้กล่าวถึงเกาหลีใต้ซึ่งเป็นประเทศที่คนไทยจำนวนหนึ่งชอบเชิดชูยกขึ้นมาอ้างว่าเป็นสังคมนิยมทหาร แต่ก็มีการถกเถียงและขบวนการคัดค้านที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียอยู่ที่ประเทศนั้นเอง เรื่องนี้ก็นับว่าน่าค้นคว้าเป็นอย่างยิ่ง และในสังคมไทยของเราเองนั้น การต่อต้านสงครามและต่อต้านการเกณฑ์ทหารก็หาใช่จะไม่มีอยู่เลย อย่างน้อยที่สุดเรามีพระอุบาลีคุณูปาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) ซึ่งคัดค้านการสงครามและการเกณฑ์ทหารในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่งไว้ในหนังสือ ธรรมวิจยานุศาสน์ จนถูกรัชกาลที่ 6 ถอดยศ “แล้วนำตัวไปมอบถวายสมเด็จพระมหาสมณะให้ทรงทรมานกว่าจะเข็ดหลาบ” ท่านเขียนไว้ว่า
“บางสิ่งก็เป็นของจำเป็นจะต้องเล่าเรียน บางสิ่งก็ไม่จำเป็นจะต้องเล่าเรียน ดังวิชาทหาร วิชาฝึกหัดยิงปืนให้แม่นยำ เป็นต้น ก็ชื่อว่า ทุวิชา เป็นวิชาชั่วโดยแท้ เพราะขาดเมตตา กรุณา แก่ฝ่ายหนึ่ง วิชาทำปืน ทำดาบ สรรพอาวุธยุทธภัณฑ์ทั้งปวง ดังเรือรบต่างๆ มีเรือเหาะ เรือใต้นํ้า ลูกแตกลูกตอปิโด เป็นต้น ต้องนับว่าเป็นวิชาชั่ว เป็นสะพานแห่งความเสื่อมทราม ความฉิบหายโดยแท้ แต่ว่าวิชาเหล่านี้ถึงรู้ว่าเป็นวิชาชั่ว ก็จำเป็นจะต้องเรียนให้รู้ให้ฉลาด แต่พึงเข้าใจว่าเป็นวิชาชั่ว เป็นสะพานแห่งความเสื่อมทราม มีตัวอย่างดังจะชี้ให้เห็น ที่เกิดมหาสงครามขึ้นในประเทศยุโรปในพุทธศก 2457 ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมมาปรากฏในสมัยนี้ พากันได้รับความพินาศฉิบหายใหญ่ คือมนุษย์ด้วยกันควรรักกัน ควรป้องกันรักษาซึ่งกันและกัน จึงจะชอบ จึงจะนับว่าเป็นชาติศิวิไลฯ” [2]
แสดงว่า วัฒนธรรมของเราก็ดี การตีความพุทธศาสนาและการเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านสังคมบูชาความเป็นทหารนั้นก็พอมีอยู่บ้างในสังคมไทย มิใช่ว่าสยบยอมไปหมด ประวัติศาสตร์ส่วนนี้เลือนหายไป แม้กระทั่งข้อถกเถียงต่างๆ และองคาพยพที่สนับสนุนระบบทหารในตอนนี้ ก็น่าจะเป็นประโยชน์แก่เราในการศึกษาตลอดจนสร้างขบวนการต่อต้านที่เป็นเครือข่ายขนาดใหญ่ขึ้นได้ ซึ่งจำต้องอาศัยความรู้ ความเข้าใจ และกลยุทธ์กลวิธีต่างๆ หวังว่าหนังสือเล่มนี้จะเป็นประโยชน์แก่การจุดประกายให้สิ่งต่างๆ เหล่านี้ได้เกิดขึ้น
ต้านเกณฑ์ทหาร: รวมบทความนานาชาติ
บรรณาธิการฉบับภาษาอังกฤษ: เอิซกืร์ เฮวัล ชึนาร์ และโจชคุน อืสแตร์จี (Ozgur Heval Cinar and Coskun Usterci)
คณะผู้แปล: ภาคิน นิมมานนรวงศ์, ต่อศักดิ์ จินดาสุขศรี, ธรรมชาติ กรีอักษร และพีระ ส่องคืนอธรรม
หนา 352 หน้า ราคา 380 บาท (ลด 10% เหลือ 342 บาท)
เชิงอรรถ
[1] สามารถอ่านคำประกาศฉบับเต็มได้ที่ http://www.wri-irg.org/en/Netiwit-declaration คำแปลภาษาไทยโดยธนากร ทองแดง จากหนังสือ คำประกาศความเป็นไทในโรงเรียน ของเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล, 2557 ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2
[2] จากหนังสือ ธรรมวิจยานุสาศ (พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท), พระนคร: โรงพิมพ์บำรุงนูกูลกิจ, 2458) หน้า 18-19