เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล
มักมีคนถามผมอยู่เนืองๆว่าใครเป็นแรงบันดาลใจให้ผมทำกิจกรรมทางเมือง ตลอดเก้าปีที่ผ่านมานี้ หากนับตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๕๓ ผมได้รู้จักกับบุคคลหลายท่าน สนทนากับคนที่น่าสนใจหลายคน และอ่านเรื่องราวและแนวคิดของนักคิดอยู่หลายคน หากจุดเริ่มต้นทั้งหมดนี้เมื่อมีคนถามถึง ไม่สามารถเป็นใครได้นอกจาก อาจารย์ปรีดี พนมยงค์
ผมได้ยินชื่อของปรีดี พนมยงค์ มาตั้งแต่สมัยประถมแล้ว โดยอาจจะไม่ได้มีความตั้งใจฟังสักเท่าไหร่ นอกจากจะได้ยินว่าอาจารย์ปรีดีเกี่ยวข้องกับกรณีสวรรคตไม่ว่าในทางใดทางหนึ่ง ต่อมาเมื่อผมได้เข้าเรียนมัธยมศึกษาชั้นปีที่ ๑ ผมมีความสนใจศึกษาพุทธศาสนาทั้งทางเถรวาทและมหายาน โดยมักจะรอซื้อหนังสือจากร้านซีเอ็ด ที่โลตัส ศรีนครินทร์ (ด้วยความที่สั่งจองทางเว็บไม่เป็น) ผมเจอนักเขียนคนนึง คือ ส.ศิวรักษ์ เขาเขียนด้วยน้ำเสียงลีลาที่น่าสนใจ นอกจากตรงไปตรงมาแล้ว ยังทำให้เห็นภูมิทัศน์โดยกว้างของศาสนาว่าเกี่ยวพันกับชีวิต การเมือง วัฒนธรรม อย่างไรบ้าง นั่นเองที่ทำให้ผมเริ่มขยับจากการอ่านงานที่เกี่ยวกับศาสนาของ ส.ศิวรักษ์ มาด้านการเมือง สังคม โดยงานเขียนของเขา มักจะพูดถึงมากที่สุดคือชื่อของ ปรีดี พนมยงค์ ทั้งแซะ ทั้งโจมตี ต่อชนชั้นปกครองที่เนรคุณคนนี้ ทำให้ผมสนใจที่จะรู้จักปรีดี
ในช่วงเวลาเดียวกันนั้นที่กระตุ้นให้ผมได้เกิดฉันทะอยากจะอ่านงานทางประวัติศาสตร์ขึ้นมาบ้างแล้ว วิชาชั่วโมงรักการอ่านของโรงเรียน ทำให้ผมจำต้องหาหนังสือมาอ่านในคาบนั้น ผมจึงได้มีโอกาสไปสำรวจหนังสือในห้องสมุดโรงเรียน และได้พบกับหนังสือน่าสนใจอยู่หลายเล่มในหมวดประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะที่ตอบข้อสงสัยใคร่รู้ของผมและคนไทยๆ หลายๆ คนเกี่ยวกับปมกรณีสวรรคตของรัชกาลที่ ๘ ซึ่งจะเป็นใครไปไม่ได้เลย เว้นเสียแต่จะเป็น คุณสุพจน์ ด่านตระกูล
งานของคุณสุพจน์ ด่านตระกูลเป็นงานเปิดโลกผมอีกครั้งหนึ่ง คุณสุพจน์เขียนเรื่องกรณีสวรรคตที่น่าสนใจ กล่าวคือ พูดถึงงานที่เขียนถึงกรณีสวรรคตชิ้นอื่นๆ ก่อนหน้าด้วย แล้วเอามาชำแหละว่าผิดอย่างไร บิดเบือนอย่างไรบ้าง งานเขียนของคุณสุพจน์ยืนอยู่ข้างอาจารย์ปรีดีอย่างชัดเจน และด้วยข้อมูลทางเอกสารอย่างมากมาย และสรุปออกมาให้เข้าใจไม่ยาก ทำให้นักเรียน ม.๑ ติดตามอ่านเข้าใจได้ แม้จะไม่หมดก็ตามที
งานเขียนของ ส.ศิวรักษ์ และคุณสุพจน์ ทำให้ผมสนใจใคร่รู้เกี่ยวกับปรีดีโดยได้ไปตามอ่านทั้ง นายปรีดี พนมยงค์ ตามทัศนะ ส.ศิวรักษ์ และชีวิตและงานของ ดร.ปรีดี พนมยงค์ (พิมพ์ในโอกาส ๑๑๐ ปี ปรีดี พนมยงค์) ทั้งสองเล่มชี้ให้เห็นว่าอาจารย์ปรีดี มีบทบาทสำคัญกับการกู้ชาติอย่างไร และถูกสังคมป้ายสีอย่างไรบ้าง โดยที่ทั้งสองคนก็ถือเป็นผู้มีเกียรติคุณที่น่าเชื่อถือ คนหนึ่งวิพากษ์ตนเองว่าถูกสังคมศักดินาอำมาตย์หลอกลวงอย่างไร อีกคนก็โต้คนที่บิดเบือนพร้อมเอกสารให้ผู้อ่านพินิจพิจารณาตาม นั่นทำให้ผมรู้สึกถึงความยิ่งใหญ่ ความเสียสละ และความน่าสงสารของอาจารย์ปรีดี พนมยงค์
ทว่าความสนุกสนาน ความสงสารอาดูรที่มีต่อชายคนนี้ไม่ได้จบอยู่ที่แค่การอ่าน แต่สถานการณ์ได้พาทำให้ผมต้องกลายเป็นผู้มีส่วนร่วมในการปกป้องอาจารย์ปรีดีด้วย กล่าวคือ เมื่อผมอยู่มัธยมศึกษาชั้นปีที่ ๒ ครูสอนวิชาประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองไทยของผม ได้กล่าวถึงการปฏิวัติ ๒๔๗๕ โดยโจมตีอาจารย์ปรีดีว่าเป็นผู้มัวหมองในกรณีสวรรคต เป็นคอมมิวนิสต์ที่ต้องการล้มเจ้า
ผมนั้นไม่มีปัญหาเลยที่จะมีคนตีความว่าปรีดีมีแนวคิดเป็นคอมมิวนิสต์หรือปรีดีจะเป็นผู้ลอบปลงพระชนม์ ถ้าหากอยู่บนพื้นฐานข้อมูลเอกสารหลักฐาน ในตอนนั้นผมมีเอกสารในมือจากหนังสือของคุณสุพจน์ เกี่ยวกับการสอบสวนปรีดีว่าเป็นคอมมิวนิสต์หรือไม่ในกรณีสมุดปกเหลือง ซึ่งข้อสรุปคือไม่ใช่ ดังนั้นผมจึงไม่พอใจที่ครูพูดแบบนั้น และผมไปเลยไปหาครูหลังเลิกคาบว่า ผมมีเอกสารยืนยันว่าไม่ใช่ แต่ครูกลับตอบผมว่า ให้ผมเอาต้นฉบับมายืนยันแล้ว ครูจะเชื่อ ซึ่งผมก็งงว่า แล้วที่ผมมีอยู่นั้นไม่น่าเชื่อถืออย่างไร ทำไมครูไม่ตอบโต้กับเอกสารที่ผมมีอยู่ จากเหตุการณ์นี้ทำให้ผมรู้สึกจับใจข้อความของลอร์ดเคนส์มาโดยตลอดที่เขากล่าวว่า When the Facts Change, I Change My Mind. What Do You Do, Sir? (เมื่อข้อเท็จจริงเปลี่ยน ฉันก็เปลี่ยน แล้วคุณล่ะ ทำอะไร)
การที่ครูไม่ยอมรับ และปลูกฝังทัศนคติด้านลบต่อปรีดี ไม่ใช่แค่เป็นการพูดประวัติศาสตร์ด้านเดียว แต่ทำให้นักเรียนคนอื่นๆ ที่ไม่ได้อ่าน หรือศึกษา คล้อยตามด้วย โดยมีเพื่อนผู้หญิงในห้องของผมตอนนั้นคนหนึ่งพูดว่า ปรีดีนี่มันเหี้ยจริงๆ ขึ้นมา ความข้อนี้กระทบกับสิ่งที่ผมรู้อย่างมาก โดยเธอไม่ได้อ่านอะไรนอกจากฟังครูพูดไม่กี่ชั่วโมง และเมื่อผมพยายามอธิบาย เธอก็ไม่ฟัง ดังนั้นผมจึงคิดว่า ผมต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อตอบโต้ครู และเป็นการทำให้คนไม่มองปรีดีในแง่ลบ จึงเป็นที่มาของการก่อตั้งจุลสารปรีดีของผมในห้องเรียน โดยผมให้จุลสารนี้ ที่เป็นหนังสือใช้กระดาษเอสี่มาเย็บๆ รวมกันสามสี่แผ่น วาดภาพปก เขียนข้อความเอง เป็นเวทีสำหรับการตอบโต้สิ่งที่ครูพูดในแต่ละครั้ง และให้เพื่อนๆ ได้แสดงทัศนะเกี่ยวกับโรงเรียน
จุลสารปรีดีของผม ผลตอบรับหรือถือว่าค่อนข้างดี แม้ครูประวัติศาสตร์เองก็เมตตาผม ยอมรับไปอ่าน และภายหลังยังสนับสนุนให้นักเรียนต่างห้องอ่านด้วย นอกจากนี้ยังมีสัมภาษณ์ครูที่นักเรียนเกรงกลัวตอนนั้น แต่ทางผมและเพื่อนๆ ก็ไปสัมภาษณ์มาลง ทำให้คนได้เห็นมุมมองครูท่านนั้นอีกมุมมองไป ยังพูดถึงปัญหาการเมือง ปัญหารถโรงเรียนมาช้า ทำนองนี้ข้างใน ทำให้นักเรียนและครูรู้จักกันเกือบทั้งโรงเรียน
ดังที่กล่าวมา จุดเริ่มต้นการเริ่มเขียน วิพากษ์วิจารณ์ ก็มาจากอาจารย์ปรีดีนี่แหละ ในการปกป้องอาจารย์ นำเสนอข้อมูล ซึ่งรายละเอียดหลังจากทำจุลสารปรีดีในห้องเรียนก็งอกงามตามมา ในการทำให้ผมถูกคนในโรงเรียนใส่ความมาตลอดหกปีหาว่าหัวรุนแรง เพราะผมเขียนสิ่งต่างๆแต่นั้นเป็นต้น นี่ทำให้ผมกลายเป็น นักเคลื่อนไหวทางสังคม แต่นั้นมา ยังการที่โรงเรียนต่อต้านผม ก็ทำให้ผมได้รู้จักกับนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กลุ่มหนึ่งที่สนใจประเด็นเดียวกันกับผมจนเกิด จุลสารปรีดี นอกโรงเรียน และโยงใยให้ผมรู้จักกับคนอีกมากมายที่ผมเคยอ่านเจอแต่ในหนังสือ
เรื่องจุลสารปรีดีหากผู้ใดสนใจจะอ่านว่าเนื้อหาเป็นอย่างไร ตอนนั้นเหตุการณ์ดุเดือดเผ็ดร้อนแค่ไหน ผมได้เขียนไว้แล้วใน ประวัติศาสตร์ที่อยากอธิบาย: บทความคัดสรรในโอกาสครบรอบ 5 ปีจุลสารปรีดี ผมได้ประมวลบทความเกือบทั้งหมดที่ผมเขียนอันดูแสนไร้เดียงสาไว้ในนั้น (มียืมที่หอสมุดกลางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) ชีวิตในโรงเรียนของผมซึ่งผมพูดถึงจุลสารปรีดีและการต่อสู้ผ่านงานเขียน การเคลื่อนไหวหลังจากนั้นมีเขียนเล่าไว้แล้วใน นักเรียนเลวในระบบการศึกษาแสนดี (มียืมที่หอสมุดกลางฯ และห้องสมุดคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ) ผมขอเล่าเรื่องไว้เพียงเท่านี้ครับ
ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือ ปรีดีบรรณานุสรณ์ 2562