ผมได้ถูกเชิญให้เขียนบทความในหนังสือ 20 ปีของการก่อตั้ง โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ เตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ เมื่อปี พ.ศ. 2555 ขณะนั้นผมอยู่ ม.4 น่าจะอายุน้อยที่สุดในนักเขียนทั้งหมดของเล่ม และน่าจะเป็นนักเรียนคนเดียวด้วย แม้ผมจะถูกกล่าวหาว่าเป็นนักเรียนเลวมาก่อนหน้านั้นแล้วก็ตาม
ตอนนี้โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ เตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการได้เลยอายุเบญจเพศ (25) ไปสู่ช่วงปลายวัยรุ่นแล้ว (อีก 2 ปีก็ครบ 30 ปี) แต่ก็ง่อนแง่นมากกว่าสมัยที่ผมเรียนอยู่เสียอีก
ถ้าผู้บริหาร ครู นักเรียน ได้อ่านบทความนี้ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ทางการในโรงเรียนสมัยนั้นเลยทีเดียว ก็คงเห็นว่า โรงเรียนสมัยนั้นมีเสรีภาพให้นักเรียนกว่าสมัยนี้อย่างไร ที่ครูข่มขู่จะเอาเรื่องเด็กที่แสดงความเห็นต่างในทวิตเตอร์ และข้อคิดในบทความนี้ยังคงสำคัญอย่างไร
เนติวิทย์ (2563)
๒๐ ปีนวมินทร์ฯเตรียมพัฒน์ฯ ไปสู่การศึกษาที่เป็นไท และยั่งยืน (ไม่ใช่ผักชีโรยหน้า) 413.38 KB 46 downloads
…๒๐ ปีนวมินทร์ฯเตรียมพัฒน์ฯ ไปสู่การศึกษาที่เป็นไท และยั่งยืน
(ไม่ใช่ผักชีโรยหน้า)
วันจันทร์ที่ ๑๙ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๕ ที่ผ่านมา ข้าพเจ้าได้รับโอกาสและได้รับเกียรติไปกล่าวสรุปและกล่าวปิดงาน “จน-รวยในโรงเรียน: สู่ระบบการศึกษาที่มองเห็นความเหลื่อมล้ำ” โดย สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ, คณะครุศาสตร์ สถาบันวิจัยสังคม ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเครือข่ายถมช่องวางทางสังคม (SIRNet) งานดังกล่าวจัดขึ้นที่ ห้องประชุมสารนิเทศ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เข้าร่วมต่างเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในด้านการศึกษา ทั้งในกระแสหลักและทางเลือก อาทิเช่นสมบัติ สุวรรณพิทักษ์ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ , รองศาสตราจารย์ ดร.ประวิต เอราวรรณ์ คณบดีศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสารคาม , ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ และอาจารย์ดวงสมร คล่องสารา รองผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เป็นต้น แต่ละท่านนั้นมีคุณวุฒิและประสบการณ์อย่างเพียบพร้อม มีแต่ข้าพเจ้าที่อ่อนวัยที่สุด ไม่มีคุณวุฒิ วัยวุฒิ และประสบการณ์ที่เพียงพอที่จะมาพูดได้เลย แต่ด้วยเหตุที่ข้าพเจ้าเป็นนักเรียนที่สนใจประเด็นด้านการศึกษา และที่เขาเรียกคือเป็น สาราณียกรนิตยสารปาจารยสาร (ซึ่งแปลว่า ครูของครู) และข้าพเจ้าได้ทำกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท สอนพิเศษเยาวชนที่ด้อยโอกาสไปเรียนพิเศษแพงๆ โดยไม่เก็บเงิน นี่คงเป็นเหตุผลที่ได้กล่าวสรุปและกล่าวปิด
แต่ละท่านนั้นพูดได้อย่างดีมาก คุณแบ็งค์ งามอรุณโชติ นักเศรษฐศาสตร์หนุ่มทำวิจัยด้วยวิธีการทางเศรษฐมิติ ได้รายงานว่าการศึกษาไทยยังมีความเหลื่อมล้ำสูงมาก รัฐบาลทุ่มงบสูงแต่ได้ผลลัพธ์น้อย ได้ภาพรวมที่ชัดเจนทางเศรษฐศาสตร์ รองศาสตราจารย์ ดร.ประวิต เอราวรรณ์ นักการศึกษาผู้มีประสบการณ์อย่างยาวนานได้เสนอแนะให้เราเพิ่มมิติในด้านสุขภาวะของนักเรียนเข้าไป ดร.ประวิต ได้วิพากษ์ระบบการแข่งขันซึ่งทำให้นักเรียนได้รับแรงกดดันมาก มีผู้แพ้ผู้ชนะซึ่งเป็นค่านิยมที่ผิดพลาด ให้ความสำคัญกับวิชาการมากกว่าสุขภาวะของนักเรียน โรงเรียนทุกโรงเรียนพยายามจัดตัวเองให้เหมือนกัน ทั้งที่มันต่างพื้นที่จากสิ่งดังกล่าวก็เกิดความแปลกแยกขึ้น ท่านได้เสนอให้เราเปิดพื้นที่ทางอัตลักษณ์ให้ทุกคน สร้างค่านิยมแบบใหม่ ทั้งนี้ในส่วนหนึ่งผมได้ลองไปฟังเทปที่ท่านเคยพูด ท่านยังได้วิพากษ์ World Class Standard School ว่าเป็นสิ่งที่ไม่มีแก่นสาระ ทำให้เกิดแข่งขันอย่างผิดๆ และอะไรเล่าคือ Standard ก็มีแต่ประเทศไทยเท่านั้นที่นำเข้าสิ่งตลกเช่นนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ ท่านพูดได้โดนใจมากโดยท่านได้วิพากษ์ถึงตัวระบบทุนนิยมที่ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำต่ำสูง ท่านเสนอให้เราเลิกเอาแต่ตามแก้ปัญหา แล้วให้สร้างและเรียนรู้ที่จะรู้เท่าทันตัวระบบ เรื่องการแข่งขันนั้นท่านเห็นว่าควรแข่งกันเรียนรู้มากกว่าจะแข่งให้เป็นเลิศแบบจอมปลอม ทั้งนี้ก็เสนอบทความที่เคยเขียนในมติชน “ปิ๊งแว๊บ” ให้นักเรียนได้เรียนใกล้ชิดกับธรรมชาติ “เรียนรู้” ไม่ใช่ “เลียนรู้” นับเป็นมุมมองที่สำคัญยิ่ง รองปลัดฯสมบัติ แม้จะอยู่ในระบบก็พูดถึงงานของอีวาน อิลลิช (Ivan Illich) นักการศึกษาออสเตรีย ซึ่งท่านอ้างถึงหนังสือ DeSchooling หรือที่นี่ไม่มีโรงเรียน ของอิลลิช ท่านกล่าวอ้างถึงงานของอิลลิชที่ว่า ระบบโรงเรียนดังที่เป็นอยู่สร้างนายทุนศักดินาขึ้น นับว่าท่านมีความกล้าหาญทางจริยธรรมไม่น้อย นอกจากนี้ยังมีมุมมองที่สำคัญจากหลายๆท่าน ศาสตราจารย์ ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยฯศึกษา ก็กรุณามารับฟัง แต่อย่างไรก็ดีทุกท่านต่างเห็นด้วยกันโดยพ้องว่า เราควรเลิก “แข่งขัน”แบบที่เป็นอยู่ หันไปหาการร่วมมือกัน การแข่งขันที่ไม่เป็นระบบแพ้คัดออก ในขณะที่ข้าพเจ้าเสนอสิ่งนี้ในบางแห่งก็กลับถูกปฏิเสธแนวคิดนี้ แสดงว่า คนเหล่านั้นคงจะพอใจในสิ่งที่เป็นอยู่มากกว่าจะสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆที่ดีกว่า หรือไม่ใช่
ในส่วนตัวข้าพเจ้าแล้ว ก็ถือว่าพูดอย่างตื่นใจโดยตลอด อันเนื่องจากประสบการณ์ที่น้อยในการพูดที่สาธารณะ จะกล่าวว่านี้เป็นการพูดในที่สาธารณะอย่างเป็นทางการครั้งแรก ของข้าพเจ้าก็ได้กระมัง ที่ข้าพเจ้าพูดนั้น ทางเครือข่ายถมช่องวางทางสังคม (SIRNet) ได้สรุปมาแล้ว ดังนี้
เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล กลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท
- ในมุมของนักเรียน เห็นว่ามีความเหลื่อมล้ำสูงมาก เช่น มองว่าสายวิทย์ดีกว่าสายศิลป์ สายศิลป์ดีกว่าอาชีวะศึกษา มีการจัดอันดับกันเกิดขึ้น ทำให้ศักดิ์ศรีคุณค่าของเด็กไม่เท่ากัน มีความต่างกันมาก
- การแข่งขันทำให้คนส่วนมากที่เป็นผู้แพ้มีความทุกข์ และทำลายระบบนิเวศวิทยา เด็กน่าจะได้เรียนรู้จากธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ควรจะได้เรียนรู้สิ่งรอบตัวมากกว่าในตำราเรียน
- วิชาวิทยาศาสตร์ในประเทศเรากำลังมีปัญหา เด็กไม่สนใจเรียน ไม่คิดว่าเป็นวิชาสำคัญที่ต้องเรียน เป็นแบบท่องจำมากกว่าเป็นการตั้งคำถาม ไม่สามารถทำให้เด็กเห็นความเชื่อมโยงระหว่างวิทยาศาสตร์กับสิ่งที่อยู่รอบตัวเรา (อ้างบทความจากอ.ยงยุทธ์ ยุทธวงศ์)
- ในฐานะที่เป็นนักเรียน ยกตัวอย่างจากตำราเรียนในวิชาสังคม เห็นว่าในการเรียนศาสนา จะมุ่งเน้นที่ศาสนาพุทธเป็นหลักและเน้นว่าศาสนาพุทธดีที่สุด ในส่วนของวิชาประวัติศาสตร์ ก็มีการอ้างถึงเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ที่ไม่สำคัญ มีการมุ่งเน้นภาษาอังกฤษมากเกินไป เพื่อตอบสนองการแข่งขันกับประเทศอื่น เป็นต้น
- นักเรียนกลายเป็นเครื่องจักรกล ต้องเสียเวลาเรียนวันละ ๘-๑๐ ชั่วโมง เราเรียนเพื่อสอบมากกว่าเรียนในสิ่งที่รักที่อยากรู้ ทำให้เด็กไม่มีเวลามาหาความเพลิดเพลิน ไม่เห็นความงาม การเรียนปัจจุบันทำไปเพื่อความเป็นเลิศ แต่ไม่ได้เรียนเพื่อแสวงหาความรู้ ความงาม ความจริง
- ครูเป็นบุคคลที่เสียเปรียบสุด ไม่มีความสุขและถูกผู้บริหารการศึกษาผูกขาดอำนาจ
- ควรหันมาใส่ใจนิเวศวิทยาแนวลึกให้มากขึ้น มองมนุษย์และสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องเดียวกัน สอดคล้องกับพุทธศาสนาที่มองทุกอย่างเป็นองค์รวม ไม่แบ่งแยก
- ต้องเปลี่ยนกระบวนทัศน์ ที่อยู่ภายใต้แนวคิดทุนนิยม เรียนเพื่อตัวเองเป็นศูนย์กลางทั้งหมด มุ่งเน้นปริมาณมากกว่าคุณภาพ ควรเลิกมองว่าคนเก่งคือคนที่อยู่รอด
- ต้องสร้างรัฐสวัสดิการ ให้หลักประกันคุณภาพชีวิตกับทุกคน (จากปฏิทินความหวังจากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน ของ อ.ป๋วย อึ๊งภากรณ์)
ข้าพเจ้าได้มาใคร่ครวญในภายหลัง และเห็นว่าสิ่งที่พวกท่านเหล่านี้ได้เสนอ ได้วิพากษ์มานั้น ตรงกับหลัก ๖ ประการที่มิอาจแบ่งแยกได้ ที่ข้าพเจ้าเคยเสนอให้สภานักเรียนฯ (รุ่น ๑๖) แต่ก็ดูจะไม่มีการเห็นดีตอบรับ นำไปใคร่ครวญเอาเลย คงต้องรอให้นักการศึกษามาพูด เพราะในระบบสังคมอุปถัมภ์ เยาวชนที่มีความคิด มีจิตใจวิทยาศาสตร์ มักถูกกล่าวหาว่าเป็นพวกหัวรุนแรง พวกล้มล้างไม่สร้างสรรค์ เป็นต้น โดยที่คนเหล่านั้นมีอคติเป็นเจ้าเรือน มากกว่าจะรับฟังและแย้งอย่างสมเหตุสมผล ในที่นี้ขอละไม่กล่าวต่อไป ในส่วนหลักทั้ง ๖ นั้นมีดังนี้
- สุขภาพ/สุขภาวะ (Healthy) ที่ดีของนักเรียนและครูคณาจารย์ทั้งในทางกายภาพและจิตใจ
- สิ่งแวดล้อม/นิเวศ (Ecological) ที่ดีในสถานศึกษา
- สิทธิมนุษยชน (Human Rights) ที่มิอาจถูกละเมิดได้ของนักเรียนและครูคณาจารย์
- สุนทรียะ/ความงาม (Beauty) ที่ต้องมีเพื่อบำรุง ปลูกฝังทัศนคติในทางสร้างสรรค์
- การร่วมมือกัน (Cooperation) ที่ต้องมากกว่าการแข่งขันเพื่อความเป็นเลิศส่วนตัว ไม่เห็นหัวผู้อื่น
- คุณค่า (Value) ที่นักเรียนครูคณาจารย์ มีเสมอกันไม่อยู่ที่ตัวปริญญาบัตรวุฒิ แต่ทุกคนมีคุณค่าอย่างเท่าเทียม
ข้าพเจ้าเองได้จัดตั้งกองทุน ๖๐ ปีสะพรั่งพร้อม รัฐสมุทรเพื่อมุทิตาจิตครูสะพรั่งพร้อม อย่างมีเนื้อหาสาระและสร้างสรรค์ โดยได้เริ่มการให้เกิดมิติในทางด้านความงาม ผ่านภาพยนตร์ การเสวนาฯ และนิทรรศการในห้องดูหนังฟังเพลง และห้องสมุดโรงเรียนฯ ซึ่งแม้จะเป็นกิจกรรมเล็กๆก็ยังก่อให้เกิดมิติในด้านสุขภาวะทางใจ การมีสิ่งแวดล้อมที่ดี การร่วมมือกันระหว่างครูและนักเรียน การให้คุณค่าแก่ผู้ร่วมเสวนาอย่างเสมอกัน รวมถึงให้ความรู้ในเรื่องสิทธิมนุษยชนไปด้วย นับเป็นจุดเล็กๆของการต้องการสร้างสรรค์โรงเรียนให้งอกงามแม้จะมีอุปสรรคหลายประการก็ตาม โดยภายหลังข้าพเจ้าได้ครุ่นคิดว่าในส่วน วัฒนธรรมไทย ดังที่เป็นอยู่จะมีส่วนในการทำให้ความงอกงามทางการศึกษาไม่บังเกิดขึ้นหรือไม่ ก็คิดว่าไม่ใช่เลยทีเดียว เพราะวัฒนธรรมนั้นเราสามารถมีส่วนกำหนด เปลี่ยนแปลงได้ มีแง่ดีและไม่ดี ส่วนแง่ที่ไม่ดี ไม่ให้ตั้งคำถาม ไม่ให้มีจิตใจเป็นวิทยาศาสตร์ก็ควรยกเลิกไป พวกเราทั้งหมดควรมาร่วมกันสร้างวัฒนธรรมใหม่ ค่านิยมใหม่ในโรงเรียนของพวกเราในโอกาสที่เป็นมงคลครบ ๒๐ปีในพุทธศักราชนี้ อย่างมีน้ำจิตน้ำใจไมตรี ร่วมมือกันไม่ใช่แข่งขัน เปิดกว้างเป็นเครือข่าย ผู้บริหารเองก็มีวิสัยทัศน์ที่ยาวไกลมองไปไกลกว่าปัจจุบัน (หัวข้อสรุปงานของข้าพเจ้าคือ ผู้บริหารการศึกษาไทยจะรอสิ้นวาสนาก่อน หรือเดินหน้าไปพร้อมกัน) เชื่อว่า เราจะสามารถอภิวัฒน์โรงเรียนของพวกเราไปสู่การเป็นโรงเรียนที่ดีที่สุด ไม่ใช่ในทางการแข่งขันเป็นที่หนึ่งของประเทศแต่ร่วมมือกัน ไม่ใช่ในการเลียนรู้แต่เรียนรู้ ไม่ใช่ฟู่ฟ่าผักชีโรยหน้าแต่ของจริงยั่งยืน ข้าพเจ้าเชื่อและมีความหวังว่า โรงเรียนของเรากำลังจะเริ่มไปสู่จุดหมายนั้น ใกล้ขึ้นทุกทีแล้ว
ประวัติผู้เขียน: นายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นักเรียนรุ่น ๑๗ เลขรหัสประจำตัว ๐๗๘๓๓ ปัจจุบันอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่๔ สายวิทย์-คณิต เป็นสาราณียกรปาจารยสาร บรรณาธิการอำนวยการจุลสารปรีดีและมาจอย