คำประกาศอดอาหารประท้วงในวันที่สองของเดือนมิถุนายน

คำประกาศอดอาหารประท้วงในวันที่สองของเดือนมิถุนายน

หลิว เสี่ยวโป เขียน

Perry Link ถ่ายทอดเป็นภาษาอังกฤษ

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล แปลเป็นภาษาไทย

กิตติธัช สุมาลย์นพ ตรวจแก้

เราประกาศอดอาหารประท้วง เราต่อต้าน เราเรียกร้อง เราสำนึกผิด

เราไม่ได้แสวงหาความตาย แต่เราแสวงหาชีวิตที่แท้จริง

เมื่อต้องเผชิญหน้ากับการปราบปรามอย่างรุนแรงไร้เหตุผลของกองทัพโดยรัฐบาลของหลี่เผิง ปัญญาชนชาวจีนต้องเลิกประเพณีอ่อนน้อมต่อผู้มีอำนาจที่มีมานับพันปี ต่อแต่นี้เราไม่อาจพูดเพียงอย่างเดียวโดยไม่ลงมือทำ เราต้องลงมือต่อต้านกฎอัยการศึก ประกาศวัฒนธรรมการเมืองรูปแบบใหม่ และสำนึกผิดต่อความผิดพลาดที่เราได้ก่อขึ้นจากความอ่อนแออย่างยาวนาน เราทุกคนต้องร่วมรับผิดชอบต่อความล้าหลังของชาติจีนของเรา

  1. เป้าหมายการอดอาหารประท้วงของเรา

ขบวนการประชาธิปไตยที่เราเห็นในวันนี้ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์จีน ที่ได้ใช้วิธีการอันชอบด้วยกฎหมาย ไม่ใช้ความรุนแรง มีเหตุมีผลและสันติมาโดยตลอดในการเรียกร้องเสรีภาพ ประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน แต่ทว่ารัฐบาลของหลี่เผิงกลับเลือกที่จะเรียกระดมพลทหารนับแสนนายเพื่อปราบปรามนักเรียนนักศึกษาและพลเมืองที่ปราศจากอาวุธ ดังนั้นการอดอาหารประท้วงของเราจึงมิใช่การ “ยื่นคำขอร้องทุกข์” ต่อผู้มีอำนาจ หากแต่เป็นการประท้วงต่อการกระทำของพวกเขา

เราสนับสนุนการเผยแพร่ประชาธิปไตยในประเทศจีนโดยสันติวิธี และต่อต้านการใช้ความรุนแรงไม่ว่าในรูปแบบใด แต่ขณะเดียวกันเราก็ไม่หวั่นกลัวความรุนแรงด้วย วัตถุประสงค์ของเราคือแสดงให้เห็นว่าด้วยสันติวิธีและความตั้งใจที่แข็งแกร่งประดุจเหล็กของประชาชนชาวจีนผู้ต้องการประชาธิปไตย จะโค่นระบอบที่ไม่เป็นประชาธิปไตยซึ่งค้ำยันด้วยปลายกระบอกปืนและคำโกหกลงได้ในที่สุด การใช้กำลังทหารภายใต้กฎอัยการศึกเข้าปราบปรามนักเรียนนักศึกษาและพลเมืองที่ประท้วงอย่างสันติถือเป็นความโง่เขลาอย่างแทบไม่น่าเชื่อ และได้กลายเป็นบรรทัดฐานอันน่าประณามที่สุดในประวัติศาสตร์ของสาธารณรัฐประชาชนจีน นำความอับอายมหาศาลมาสู่พรรคคอมมิวนิสต์ รัฐบาลจีน และกองทัพ และได้ทำลายแผน “การปฏิรูปและเปิดประเทศ” ตลอดสิบปีที่ผ่านมาลงไปในครั้งเดียว

ประวัติศาสตร์จีนหลายพันปีเต็มไปด้วยเรื่องราวความเกลียดชังระหว่างศัตรูคู่อาฆาตและการใช้ความรุนแรงสู้กับความรุนแรง เมื่อยุคใหม่เริ่มขึ้น “สำนึกความเป็นศัตรู” ก็หยั่งรากลึกในแนวคิดทางการเมืองจีนไปแล้ว และหลังจากชัยชนะของพรรคคอมมิวนิสต์ในปี ค.ศ. 1949 คำขวัญเช่น “จงถือเอาการต่อสู้ทางชนชั้นเป็นพื้นฐาน” ก็ได้ผลักดันความรู้สึกเกลียดชัง สำนึกความเป็นศัตรู และการใช้ความรุนแรงต่อสู้กับความรุนแรงซึ่งมีมาแต่ดั้งเดิมให้สุดขั้วยิ่งขึ้นไปอีก ตัวอย่างของวิธีคิด “การต่อสู้ทางชนชั้น” ที่แสดงให้เห็นชัด ๆ ก็คือกฏอัยการศึกในขณะนี้นั่นเอง เราจึงอดอาหารเพื่อเรียกร้องต่อเพื่อนชาวจีนร่วมชาติของเราเสียแต่บัดนี้ให้ถอยห่างจากสำนึกความเป็นศัตรู ความรู้สึกเกลียดชัง และวัฒนธรรมการเมืองเรื่อง “การต่อสู้ทางชนชั้น” และละทิ้งไปให้หมดในที่สุด เพราะความเกลียดชังรังแต่จะนำมาซึ่งความรุนแรงและระบอบเผด็จการเท่านั้น

เราต้องเริ่มสร้างระบอบประชาธิปไตยในประเทศจีนด้วยจิตวิญญาณของความอดทนอดกลั้นและสำนึกความร่วมมือกัน สังคมประชาธิปไตยไม่อาจสร้างได้จากความเกลียดชังและความเป็นศัตรู แต่สร้างจากการปรึกษาหารือ การถกเถียง และการลงคะแนน ซึ่งดำเนินไปบนพื้นฐานของความเคารพต่อกัน ความอดทนอดกลั้น และความสมัครใจที่จะประนีประนอม หลี่เผิง ในฐานะนายกรัฐมนตรีได้ก่อความผิดพลาดใหญ่หลวงหลายครั้ง เขาสมควรต้องรับผิดชอบต่อความผิดพลาดเหล่านี้ตามกระบวนการประชาธิปไตย และจากนั้นก็ควรลาออกไปเสีย กระนั้นหลี่เผิงก็หาใช่ศัตรูไม่ และแม้เขาจะลาออกแล้วเขาก็ยังสมควรมีสิทธิเยี่ยงพลเมืองคนหนึ่ง รวมถึงสิทธิในการสนับสนุนนโยบายที่ผิดพลาดของเขาต่อไปด้วย หากเขาเลือกจะทำเช่นนั้น เราเรียกร้องให้ทุกคน — ทั้งรัฐบาลและสามัญชน — ให้ละทิ้งวัฒนธรรมการเมืองแบบเก่าและโอบรับแบบใหม่ เราเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกกฎอัยการศึกในทันที และเราขอให้ทั้งรัฐบาลและนักเรียนนักศึกษาเปิดโอกาสให้มีการปรึกษาหารือ เจรจา และสนทนาโดยสันติอีกครั้ง เพื่อแก้ปัญหาการเผชิญหน้ากันในขณะนี้

ขบวนการนักเรียนนักศึกษาขณะนี้ได้รับความเห็นอกเห็นใจ ความเข้าใจ และแรงสนับสนุนจากสังคมจีนทุกภาคส่วนอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และการประกาศกฎอัยการศึกษาจะยิ่งช่วยผนึกกำลังสนับสนุนจากทั่วทุกสารทิศนี้ให้เป็นปึกแผ่นยิ่งขึ้น แต่กระนั้นเราก็ต้องตระหนักว่าสำหรับคนส่วนใหญ่แล้วการสนับสนุนนักเรียนนักศึกษานั้นเกิดจากความเห็นอกเห็นใจธรรมดา ๆ ของมนุษย์และความไม่พอใจรัฐบาล หาได้มาจากจิตสำนึกแบบใหม่คือความรับผิดชอบทางการเมืองของพลเมืองไม่ ด้วยเหตุนี้เราจึงขอเรียกร้องต่อทุกคนในสังคมให้เปลี่ยนบทบาท จากที่เป็นเพียงผู้สังเกตการณ์ที่มีความเห็นอกเห็นใจธรรมดา ๆ มาสู่การเป็นพลเมืองที่มีส่วนร่วมทางการเมือง กฎข้อแรกของการเป็นพลเมืองคือหลักความเสมอภาค พลเมืองทุกคนต้องมั่นใจได้ว่าสิทธิทางการเมืองของพวกเขาไม่แตกต่างกับสิทธิทางการเมืองของนายกรัฐมนตรี กฏข้อที่สองคือพลเมืองไม่ใช่แค่ “รู้สึกเห็นอกเห็นใจ” หรือ “สำนึกถึงความ อยุติธรรม” เท่านั้น เพราะจะเป็นพลเมืองได้ต้องใช้เหตุผลตระหนักว่าตนมีความรับผิดชอบต่อการมีส่วนร่วมทางการเมืองด้วย เราขอเรียกร้องให้พลเมืองร่วมชาติใช้สิทธิของตน มีส่วนร่วมต่อการสร้างระบอบประชาธิปไตย และตระหนักว่าพลเมืองทุกคนมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อการตัดสินใจทางการเมืองต่าง ๆ ของสังคม หากการตัดสินใจเหล่านี้มีเหตุผลและถูกต้องตามกฏหมาย พลเมืองทุกคนก็สมควรได้รับชื่อเสียงร่วมกัน แต่หากการตัดสินใจต่าง ๆ ไร้เหตุผลและผิดกฎหมาย พลเมืองทุกคนก็สมควรแบ่งกันรับคำตำหนิด้วย พลเมืองทุกคนมีหน้าที่โดยกำเนิดที่จะตั้งใจมีส่วนร่วมต่อการเมืองในสังคมของตน เพื่อนชาวจีนร่วมชาติของเราต้องตระหนักว่าในการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยนั้นทุก ๆ คนเป็นพลเมืองก่อน แล้วจึงเป็นนักเรียนนักศึกษา อาจารย์ กรรมกร เจ้าพนักงานรัฐ ทหาร หรืออื่น ๆ ทีหลัง

นับพันปีแล้วที่สังคมจีนได้ตกอยู่ในวงจรอุบาทว์ของการโค่นล้มราชวงศ์เก่าเพื่อก่อตั้งราชวงศ์ใหม่ อย่างไรก็ตามประวัติศาสตร์ได้แสดงให้เห็นแล้วว่าการออกไปของผู้นำซึ่งสูญเสียความเชื่อมั่นของประชาชนและมีผู้นำคนใหม่ซึ่งประชาชนเชื่อมั่นขึ้นมาแทนที่นั้นไม่ใช่สูตรสำเร็จที่จะแก้ปัญหาความต้องการทางการเมืองขั้นพื้นฐานของประเทศจีนได้ สิ่งที่เราต้องการนั้นมิใช่ผู้กอบกู้ที่สมบูรณ์แบบ แต่เราต้องการระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ต่างหาก ด้วยเหตุนี้เราจึงขอเรียกร้องให้:

ข้อหนึ่ง ให้มีการจัดตั้งองค์กรอิสระของประชาชนหลาย ๆ องค์กรตลอดทั่วทั้งสังคม ซึ่งจะค่อย ๆ ทำให้พลังทางการเมืองของประชาชนเป็นรูปเป็นร่างขึ้น และกลายเป็นเครื่องคานอำนาจการปกครองของส่วนกลาง เพราะระบบตรวจสอบและถ่วงดุลเป็นหัวใจสำคัญของระบอบประชาธิปไตย เราควรยอมเห็นมารสิบตนมาทำงานในระบบที่มีการตรวจสอบและถ่วงดุลดีกว่ายอมเห็นเทพหนึ่งองค์ปฏิบัติงานด้วยอำนาจอาชญาสิทธิ์ที่ไม่สามารถตรวจสอบได้

ข้อสอง ให้มีการค่อย ๆ จัดตั้งระบบถอดถอนเจ้าพนักงานรัฐที่ใช้อำนาจไปในทางมิชอบอย่างร้ายแรง ใครจะได้ตำแหน่งหรือใครจะออกจากตำแหน่งไม่สำคัญเท่ากับการได้หรือออกจากตำแหน่งนั้นมีการตัดสินใจอย่างไร กระบวนการที่ไม่เป็นประชาธิปไตยย่อมเพียงแต่นำไปสู่ระบอบเผด็จการเท่านั้น

ทั้งรัฐบาลและนักเรียนนักศึกษาต่างก็ทำผิดพลาดในระหว่างการเคลื่อนไหวของขบวนการนี้กันทั้งคู่ ด้วยเหตุนี้เราจึงเรียกร้องให้ทั้งสองฝ่ายซึ่งกำลังเผชิญหน้ากันอยู่ได้ทำการย้อนมองตนเองอย่างตรงไปตรงมา

ความผิดพลาดประการสำคัญของรัฐบาลคือการยึดติดกับสำนึก “การต่อสู้ทางชนชั้น” เวลามองนักเรียนนักศึกษาและพลเมืองผู้ประท้วง สำนึกนี้มองว่าผู้ประท้วงเป็นศัตรูและทำให้การเผชิญหน้ากันหนักหน่วงรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ แทนที่จะทำอย่างนั้นรัฐบาลควรถือว่าการเกิดขบวนการประชาธิปไตยขนาดใหญ่เช่นนี้ขึ้นเป็นบทเรียนราคาแพง รัฐบาลควรหัดฟังสิ่งที่ประชาชนพูด ยอมรับสิทธิของประชาชนตามรัฐธรรมนูญที่จะแสดงออก และเรียนรู้วิธีการปกครองอย่างเป็นประชาธิปไตย ขบวนการประชาธิปไตยนี้สามารถเป็นครูของรัฐบาลช่วยสอนให้เรียนรู้วิธีปกครองสังคมด้วยประชาธิปไตยและหลักนิติรัฐได้

ความผิดพลาดต่าง ๆ ของนักเรียนนักศึกษานั้นส่วนใหญ่มาจากการปฏิบัติงานภายในองค์กรที่ไม่สมบูรณ์พอของพวกเขาเอง ทั้ง ๆ ที่พวกเขาพยายามก่อสร้างประชาธิปไตยแต่กลับใช้องค์ประกอบอันไม่เป็นประชาธิปไตยขึ้นมาแทน ตัวอย่างเช่น ทฤษฎีของพวกเขาเป็นประชาธิปไตย แต่การจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นจริงไม่เป็นประชาธิปไตย และเป้าหมายของพวกเขาคือประชาธิปไตย ทว่าวิธีการและกระบวนการกลับไม่เป็นประชาธิปไตย การลงแรงสูญเปล่าเพราะการประสานงานไม่ดี ปัญหาเหล่านี้ทำให้นโยบายสับสน การเงินยุ่งเหยิง และสิ้นเปลืองวัสดุอุปกรณ์ การตัดสินใจหลายครั้งเกินไปที่ใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล และมีการให้ความสำคัญกับสิทธิพิเศษมากเกินไป แทนที่จะสนใจความเสมอภาค

กระนั้นก็ตาม ในที่สุดแล้วไม่ต้องสงสัยเลยว่าความผิดพลาดของรัฐบาลใหญ่หลวงกว่า การเดิน ขบวนและการอดอาหารประท้วงเป็นวิธีที่ถูกต้องทางกฏหมายและชอบด้วยเหตุผลซึ่งประชาชนใช้เพื่อแสดงเจตจำนงของตนออกมา ยุทธวิธีเช่นนี้ไม่ใช่การ “ก่อความวุ่นวาย” แต่ประการใด

แต่รัฐบาลกลับยึดติดวิธีคิดแบบเผด็จการ เพิกเฉยต่อสิทธิของพลเมืองซึ่งเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ ประกาศว่าการกระทำของผู้ประท้วงเป็นการก่อความวุ่นวาย จากความผิดพลาดนี้เองที่ทำให้รัฐบาลตัดสินใจผิดพลาดอย่างต่อเนื่อง ยิ่งกลายเป็นการกระตุ้นซ้ำๆให้ขบวนการนักเรียนนักศึกษายกระดับการประท้วงของตน และทำให้ความบาดหมางของทั้งสองฝ่ายลึกลงยิ่งขึ้น ความผิดพลาดเหล่านี้ของรัฐบาลต่างหากคือต้นกำเนิดที่แท้จริงของ “ความวุ่นวาย” (เช่นที่เคยเกิดระหว่างการปฏิวัติวัฒนธรรมของเหมาเจ๋อตุง) มีแต่เพียงความอดทนอดกลั้นของนักเรียนนักศึกษา บวกกับเสียงเรียกร้องอย่างแข็งขันจากผู้ที่มีเหตุผลในสังคม (รวมไปถึงคนในพรรค ในรัฐบาล และในกองทัพ) เท่านั้นที่ทำให้เรายังคงหลีกเลี่ยงการนองเลือดครั้งใหญ่ได้จนถึงขณะนี้ รัฐบาลจำเป็นต้องตระหนักและแก้ไขความผิดพลาดทั้งหลายตั้งแต่บัดนี้ก่อนจะสายเกินแก้

การต่อสู้ของประชาชนชาวจีนเพื่อระบอบประชาธิปไตยในตลอดเวลากว่าร้อยปีมานี้ยังคงอยู่ในระดับทฤษฎีและคำขวัญเสียมาก พวกเขามุ่งแต่เพียงอุดมคติแต่ไม่สนใจวิธีการปฏิบัติจริง มุ่งแต่เพียงเป้าหมายแทนที่จะสนใจวิธีการ แนวทางปฏิบัติ และกระบวนการ ในทัศนะของพวกเราการสร้างประชาธิปไตยอย่างแท้จริงจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อวิธีการ แนวทาง และกระบวนการกลายเป็นหัวใจสำคัญ เราเรียกร้องขอให้ชาวจีนร่วมชาติละทิ้งประชาธิปไตยแบบที่ป่าวประกาศในคำขวัญ แบบที่มีแต่เพียงเป้าหมาย หรือแบบมโนภาพเชิงอุดมคติง่าย ๆ ไปเสีย แล้วแสวงหาประชาธิปไตยที่มีแนวทาง วิธีการ และกระบวนการแทน แล้วจึงมุ่งไปยังปัญหาเชิงรูปธรรมที่เกิดขึ้นจริง ปรับขบวนการประชาธิปไตยที่มีศูนย์กลางบนอุดมคติทางทฤษฎีไปสู่ขบวนการที่มีกระบวนการประชาธิปไตยในทางปฏิบัติ นี่จึงเป็นอีกเหตุผลที่เราเรียกร้องให้นักเรียนนักศึกษาทบทวนอีกครั้งถึงวิธีดีกว่านี้ที่พวกเขาจะสร้างประชาธิปไตยขึ้นภายในจตุรัสเทียนอันเหมิน

หนึ่งในความผิดพลาดชัดเจนของรัฐบาลคือการให้ค่าการประท้วงของนักเรียนนักศึกษาว่าเป็น “คนกลุ่มน้อย” เราจึงอดอาหารประท้วงโดยหวังว่าจะทำให้ทั้งจีนและโลกรู้ว่า “คนกลุ่มน้อย” นี้รวมเราอยู่ด้วย เราไม่ใช่นักเรียนนักศึกษา แต่เป็นพลเมืองผู้รู้สึกถึงความรับผิดชอบทางการเมือง และได้เข้าร่วมขบวนการทางสังคมอันไพศาลที่มีนักเรียนนักศึกษาเป็นผู้นำ ทุกสิ่งที่เราทำล้วนมีเหตุผลและถูกต้องตามกฏหมาย เป้าหมายของเราคือใช้ความคิดและการกระทำของเราเพื่อทำให้รัฐบาลได้ไตร่ตรองและสำนึกผิดต่อสิ่งที่กระทำอยู่ การสำนึกผิดดังกล่าวสามารถเกิดขึ้นได้ในตัวของพนักงานรัฐ ทั้งจากวัฒนธรรมทางการเมือง จากลักษณะนิสัยส่วนตัว หรือจากหลักจริยธรรม ซึ่งการสำนึกผิดเช่นนี้สามารถทำให้รัฐบาลยอมรับความผิดพลาดของตนต่อสาธารณะอีกทั้งแก้ไขได้ ความหวังอีกอย่างหนึ่งของเราคือนักเรียนนักศึกษาจะบริหารจัดการองค์กรของพวกเขาอย่างเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นด้วย

เราต้องยอมรับว่าพลเมืองจีนส่วนใหญ่ไม่คุ้นเคยกับการบริหารประเทศตามหลักประชาธิปไตย ประชาชนจีนทุกคนรวมถึงผู้นำระดับสูงของพรรคและของรัฐจำเป็นต้องเรียนรู้หลักการเหล่านี้ตั้งแต่ต้น ในระหว่างกระบวนการเรียนรู้นี้จะต้องเกิดข้อผิดพลาดมากมายเกิดขึ้นทั้งในหมู่ประชาชนและข้าราชการ สิ่งสำคัญคือจะต้องมองเห็นความผิดพลาดที่เกิดขึ้น เพื่อจะได้แก้ไขและเรียนรู้จากความผิดพลาดนั้น ๆ ถ้าเราทำอย่างนี้ได้ ความผิดพลาดก็อาจกลับกลายเป็นเรื่องดี จากการแก้ไขความผิดพลาดอย่างสม่ำเสมอเราจะสามารถเรียนรู้วิธีการปกครองประเทศอย่างเป็นประชาธิปไตยไปทีละขั้น ๆ ได้

  1. คติพจน์พื้นฐานของเรา
  1. เราไม่มีศัตรู เราจะไม่ให้ความเกลียดชังหรือการใช้ความรุนแรงบ่อนทำลายความคิดของเราหรือเป็นอุปสรรคต่อความก้าวหน้าในการพัฒนาประชาธิปไตยในประเทศจีน
  2. เราต้องทบทวนตนเอง ความล้าหลังของประเทศจีนเป็นความรับผิดชอบของทุกคน
  3. เราเป็นพลเมืองก่อนจะเป็นสถานะอื่นใด
  4. เราไม่ได้แสวงหาความตาย แต่เราแสวงหาชีวิตที่แท้จริง
  1. สถานที่ เวลา และกฏของอดอาหารประท้วง
  1. สถานที่: ตรงฐานของอนุสาวรีย์วีรชนของประชาชน จัตุรัสเทียนอันเหมิน
  2. เวลา: จากสี่โมงเย็นของวันที่ 2 มิถุนายน จนถึงสี่โมงเย็นของวันที่ 5 มิถุนายน 1989
  3. กฎ: ไม่กินอาหาร ยกเว้นน้ำที่ต้มแล้ว และต้องไม่มีสารอาหารใดๆ (เช่น น้ำตาล แป้ง ไขมัน หรือโปรตีน) ในน้ำ
  1. ผู้อดอาหารประท้วง

หลิว เสี่ยวโป ดุษฎีบัณฑิตสาขาวรรณคดีจีน อาจารย์ภาควิชาภาษาจีน มหาวิทยาลัยครุศาสตร์ปักกิ่ง

โจว ตัว อดีตอาจารย์สถาบันวิจัยสังคมวิทยา มหาวิทยาลัยปักกิ่ง ปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนทั่วไปของบริษัทสโตน

โฮ เต๋อเจียน นักแต่งเพลงชื่อดัง

กาว ซิน อดีตบรรณาธิการหนังสือพิมพ์มหาวิทยาลัยครุศาสตร์กรุงปักกิ่งรายสัปดาห์ และสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีน